ช่วงระยะเวลาใส่สารลำไย

ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนลำไยกำลังตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการใช้สารเคมีเพื่อให้ลำไยออกดอกนอกฤดูกาล เพราะปกติแล้วการออกดอกติดผลของลำไยจะต้องมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม กล่าวคือ ช่วงก่อนการออกดอก ใบและยอดจะต้องหยุดการผลิใบ มีการสะสมอาหารเพียงพอ ใบอยู่ในสภาพแก่ทั้งต้น มีอุณหภูมิหนาวเย็นประมาณ 10-20 องศาเซลเซียสช่วงหนึ่งก่อนการออกดอก        เมื่อมีการใช้สารเคมีทำให้ลำไยออกดอกได้แล้วความหนาวเย็นก็จะไม่มีความจำเป็นต่อการออกดอกของลำไยอีกต่อไป แต่ในการผลิตลำไย นอกจากจะมุ่งผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณของผลผลิตแล้วผู้ผลิตควรจะต้องคำนึงถึงการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพทางการตลาดด้วย  ซึ่งในการเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตนั้น เกษตรกรต้องมีความรู้และความเข้าใจในปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของต้นเพื่อการออกดอกติดผลตลอดจนการจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณ และปรับปรุงคุณภาพผลผลิต เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการผลผลิตลำไย ให้มีคุณภาพ เพื่อให้การลงทุนทำสวนลำไยนั้นได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

หัวใจสำคัญ
     1.ต้องเตรียมต้นลำไยให้สมบูรณ์ สะสมอาหารได้มากพอ ไม่มีโรคแมลงทำลาย
     2.รู้จักการใช้สารอย่างถูกต้อง ทำความเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของสารที่จะใช้ ซึ่งมีผลต่อต้นพืช
     3.สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ฝนไม่ตกชุก และอากาศไม่หนาวเย็นเกินไป ช่วงดอกบาน
     4. มีความพร้อมทั้งด้านทุน แรงงาน และเวลาในการดูแลรักษา

กระบวนการออกดอกของลำไยโดยธรรมชาติ ในปัจจุบันนักวิชาการเชื่อว่าก่อนที่พืชทั่วไปจะออกดอกนั้น จะต้องมีการเก็บสะสมอาหารที่อยู่ในรูปคาร์โบไฮเดรต ซึ่งได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงจนถึงระดับหนึ่ง ซึ่งเพียงพอต่อการนำไปใช้เป็นพลังงานในการสร้างตาดอกได้ต่อปี    ต้องมีการลดระดับการสร้างฮอร์โมนพืชบางชนิดลง เช่น จิบเบอเรลลิน เพื่อไม่ให้ไปควบคุมการสังเคราะห์เอนไซม์ โปรตีน และสารประกอบอินทรีย์ต่าง ๆ ภายในเซลล์พืช ซึ่งจะทำให้พัฒนาการทางด้านการแตกกิ่ง ใบ ลดลง

                                                                                                                                                                                                                                                
สำหรับในลำไยก็เช่นเดียวกันกระบวนการออกดอกในแต่ละรอบปี หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เมื่อมีการให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างมาก ช่วงนี้ต้นลำไยจะได้รับธาตุ
ไนโตรเจน (N) อย่างเต็มที่ ทำให้สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินได้ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ลำไยแตกใบอ่อนขึ้นต่อมาในช่วงที่ใบเจริญก็จะมีการ
สังเคราะห์แสง สร้างพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ของเซลล์ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของต้น
       ดังนั้น ช่วงนี้พลังงานและสารอาหารจึงมักจะถูกใช้หมดไป ประกอบกับฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน ภายในต้นยังมีระดับค่อนข้างสูง จึงทำให้เกิดการแตกใบอ่อนอีกประมาณ 1-2 ชุด เมื่อสภาพแวดล้อม
เหมาะสม ฝนทิ้งช่วง ดินแห้ง ต้นลำไยจะลดการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน
ลง ทำให้หยุดการแตกใบอ่อนประกอบกับต้นลำไยมีการสะสม
อาหารมากพอ จนถึงระดับที่สามารถสร้างตาดอกได้   เมื่อมีอุณหภูมิต่ำประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส ระยะหนึ่ง ก็จะทำให้ลำไยออกดอกได้

    กระบวนการออกดอกของลำไยที่ทำสาร
     โปแตสเซียมคลอเรต (Potassium Chlorate) เป็นสารประเภทออกซิไดซิ่งเอเจนท์ที่แรงมาก เช่นเดียวกับโซเดียมคลอเรต
(Sodium Chlorate) หรือโลหะคลอเรตอื่น ๆ ถ้าผสมกับสารพวกรีดิวซิ่งเอเจนท์ เช่น กำมะถัน น้ำตาลทรายและรีดิวซิ่งเอเจนท์ต่าง ๆ
หรือสารไฮโดรคาร์บอน หรือรวมกับกรดกำถัน จะเกิด ปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่องและเกิดการระเบิดได้ การขัดถู การเสียดสี การบดอัด
ก็เกิดการจุดชนวนระเบิดได้ เช่นเดียวกับประกายไฟ เมื่อใช้โปแตสเซียมคลอเรต หรือโซเดียมคลอเรต ละลายน้ำราดลงดิน
พอรากพืชดูดสารคลอเรตเข้าไปในระบบ จากการที่เป็นออกซิไดซิ่งเอเจนท์ที่แรงจัด ก็จะไปออกฤทธิ์กับสารรีดิวซิ่งเอเจนท์ในราก
และระบบท่อน้ำของพืช ทำให้การเจริญเติบโตของรากหยุดชะงักอย่างรุนแรง ซึ่งที่สำคัญคือสารนี้จะเข้าแข่งขัน แก่งแย่งหรือทำลายการทำงาน
ของเอนไซม์ไนเตรทรีดั๊กเต๊ซ (nitrate reductase:NR) เท่ากับเป็นการหยุดการทำงานของ
ไนโตรเจนเมทาโบลิซึม (nitrogen metabolism) คือทำให้จำนวนไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ในต้นพืชลดลงฉับพลัน
แต่พืชยังสร้างคาร์โบไฮเดรตได้ตามปกติ ทำให้ต้นลำไยมี ซี:เอ็น เรโช (C/N ratio) กว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และลำไยก็ออกดอกได้ลำไยที่ถูก
ราดสารต้องได้รับการให้น้ำอย่างมากหรืออย่างเพียงพอ เพื่อให้เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของราก ทำหน้าที่แทนรากขนอ่อนที่ถูกทำลายไป
ถ้าใช้มากหรือเข้มข้น เกินไป จะทำให้พืชใบเหลืองตามอาการขาดไนโตรเจน
ซึ่งที่จริงไม่ได้ขาด แต่สารคลอเรตทำให้พืชใช้ไนโตรเจนไม่ได้ ในสภาพที่รากพืชไม่ได้รับปุ๋ยในรูปของ   ไนเตรท
ต้นจะอ่อนไหวและอ่อนแอมากต่อคลอเรต แต่ในทางกลับกันหากสภาพแวดล้อมของรากอุดมด้วยไนเตรท การใช้สารคลอเรตมัก
ได้ผลไม่เต็มที่
     การเปลี่ยนจากตาใบ ไปเป็นตาดอกของลำไยนี้ ตายอดของลำไยจะต้องอยู่ในระยะที่กำลังผลิ (Active) หากไม่ได้ให้น้ำหรือ
ตาอยู่ในระยะพักตัว การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลส่วนหนึ่งที่พบว่าภายหลังจากการราดสารคลอเรตแล้ว
ต้นลำไยไม่ออกดอก หรือตายไป ดังนั้น การให้น้ำภายหลัง การให้สารแล้ว จะช่วยให้ปริมาณของสารคลอเรตนี้ลดลงไปได้ทางหนึ่ง
นอกจากนี้การให้ปุ๋ยในรูปไนเตรท ภายหลังจากต้นออกดอกแล้ว อาจจะเป็นช่องทางหนึ่ง ของการฟื้นฟูสภาพต้นลำไย
เนื่องจากต้นได้ถูกยับยั้งการใช้ธาตุไนโตรเจนไปอย่างรุนแรง

ช่วงที่เหมาะสมในการกระตุ้นการออกดอกด้วยสารคลอเรต
ผู้ที่จะผลิตลำไยมีจุดประสงค์หลักอย่างเดียวกันคือ ต้องการให้ต้นลำไยสามารถออกดอกติดผล และมีผลผลิตออกจำหน่ายได้ก่อนหรือหลังฤดูปกติ แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตจำเป็นต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่ มาประกอบการตัดสินใจด้วยว่าควรจะใช้สารคลอเรตกับลำไยในช่วงใด  จึงจะประสบผลสำเร็จ
ได้ดีที่สุด ซึ่งในที่นี้จะขอแนะนำเป็น 3 ช่วงคือ

1.ช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม จะสามารถผลิตลำไยออกหลังฤดูปกติประมาณ 2-4เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลไม้อื่นในตลาดไม่มากนัก (ตุลาคม – มกราคม) หลักสำคัญก็คือ จัดเป็นช่วงที่ในระยะการพัฒนาการของผลลำไยอยู่ในฤดูฝน เหมาะสำหรับในเขตที่อาศัยน้ำฝนหรือแหล่งน้ำในสวนมีไม่มากนัก ข้อจำกัดที่มักจะเกิดขึ้นคือ ถ้าราดสารในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ระยะที่ดอกบานมักจะตรงกับช่วงฝนตกชุก อาจมีปัญหาในการติดผลได้

2. ช่วงเดือนสิงหาคม  – พฤศจิกายน  จะสามารถผลิตลำไยออกก่อนฤดูปกติ 2 - 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลไม้อื่นออกสู่ตลาดบ้างเล็กน้อย ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูง
(กุมภาพันธ์ –มิถุนายน) เหมาะสำหรับสวนที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ เพราะระยะการพัฒนาการของผลลำไยอยู่ในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง ข้อจำกัดที่มักจะเกิดขึ้น คือ ถ้าราดสารในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ระยะดอกบานมักจะตรงกับช่วงที่มีลมหนาว อาจจะมีปัญหาในการติดผลได้


3. ช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ผลผลิตจะออกมาตรงกับช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ซึ่งเป็นช่วงการออกสู่ตลาดของลำไยในฤดูปกติ


http://www.chanthaburi.doae.go.th/new%20information_53/fruits06082012.html